ประวัติวัดแก้วแจ่มฟ้า
ประวัติวัดแก้วแจ่มฟ้า ถนนสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้งวัด
วัดนี้ตั้งอยู่ที่ถนนสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ด้านหน้าวัดยาวตามถนนสี่พระยาว เส้น 2 เส้น 18 วา ด้านหลังยาว 3 เส้น 8 วา ด้านตะวันออกยาว 2 เส้น 16 วา กว้างตามแนวติดกรมสรรพสามิต (เก่า) 2 เส้น 7 วา หน้าวัดหันออกทางทิศใต้ติดถนนสี่พระยา ทิศตะวันตกติดกรมสรรพสามิตกับที่ดินเอกชน ทิศเหนือติดกับที่ดินของเอกชน ทิศตะวันออกติดกับซอยแก้วฟ้า และติดกับที่ของเอกชน รวมเนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 53 วา
เรื่องชื่อวัด
วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดแก้วแจ่มฟ้า น่าจะไม่ได้ตั้งชื่อตามผู้สร้าง คือนายแก้ว นางแจ่ม บอกชื่อสงสัยไว้ในประวัติของหลวงพ่อพระครูวรกิจวิจารณ์ ( ดิษ ) ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านพระครูองค์นั้น เพราะวัดที่ได้ชื่อเช่นนี้มีหลายวัดด้วยกัน เฉพาะในกรุงเทพฯนี้เองก็มีถึง 2 วัด และมิใช่มีแต่ในกรุงเทพฯเท่านั้น ในหัวเมืองก็มีมาก ทั้งมีมาเก่าแก่ด้วย เช่นวัดที่กรุงเก่า ในเรื่องชื่อวัดแก้วแจ่มฟ้านี้ มีพระดำรัสของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ซึ่งจัดอยู่ประเภทสาสน์สมเด็จ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือวารสารศิลปากร นิตยสารรายสองเดือนของกรมศิลปากร ปีที่ 10 เล่ม 4 ประจำเดือน พฤษจิกายน พ.ศ. 2509 หน้า 1 ความว่า“ที่ชื่อวัดแก้วฟ้านั้น” ในกรุงเทพฯมีอยู่ถึง 2 วัด คือวัดแก้วฟ้าบน กับวัดแก้วแจ่มฟ้าล่างซ้ำในพระวินิจฉัยลายแทงก็มีความบ่งถึงสุนทรภู่ไปขอเจ้าฟ้าอากาศที่กรุงเก่า คิดว่าวัดนั้นก็มีชื่อว่าวัดแก้วอากาศ แต่คนไม่เข้าใจความ จึงโยคคำแก้วฟ้าไปเสียเป็นเจ้าฟ้า คำว่าแก้วฟ้าติดจะลับ เกล้ากระหม่อมก็ไปทราบที่แบบฉันท์อันกล่าวไว้ว่า “รตนานภาดล สุริเยศร์ประภาพราย” เป็นอันเข้าใจว่าชื่อแก้วฟ้านั้น เป็นชื่อแบบอย่าสว่างอารมณ์ (หรือวัดใหม่ วัดเหนือ วัดใต้ วัดราษฏร์ศ์ทธาราม) ย่อมมีที่ไหน ๆ อยู่มาก ที่เรียกวัดแก้วฟ้าอากาศนั้น คำอากาสก็จะเป็นคำต่อ แสดงว่าชื่อวัดแก้วฟ้ามีซ้ำกันหลายวัด คำอากาศที่ต่อเข้านั้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้รู้ทางบาลีต่อ เพราะทางบาลี คำว่าสวรรค์นั้น หมายถึงที่อยู่ของเทวดา คำอากาศหมายถึงที่วางบนหัว ก็ย่อมสมแก่พระอาทิตย์อยู่ทีเดียว วัดแก้วฟ้าล่างที่กรุงเทพฯก็มีอยู่แทรกคำว่า วัดแก้วแจ่มฟ้า แต่ไม่มีใครใช้เรียกตามที่แทรก แต่ก่อนก็นึกประมาณว่า แทรกทำไม ความชัดอยู่แล้ว แล้วจึงมาเข้าใจทีหลัง ว่าแทรกเพื่อจะผลักคำบนล่างให้พ้นไปเสีย โดยชื่อผิดกันแล้ว ไปลงรอยที่ต่อคำแก้วฟ้าอากาศนั้น”ตามพระราชดำรัสนี้ แสดงชัดว่า ชื่อวัดแก้วแจ่มฟ้านั้น น่าจะไม่ใช่ตั้งตามชื่อผู้สร้างดังที่ปรากฏในประวัติของท่าน พระครูวรกิจวิจารณ์ ( ดิษ ) ตามที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นแน่ (เรื่องวัดนี้บางคนบอกว่า นายแก้ว นางแจ่ม เป็นผู้สร้างจึงเรียกชื่อวัดแก้วแจ่มฟ้า)
ที่ตั้งวัดเดิม
วัดนี้เดิมตั้งอยู่ระหว่างถนนเจริญกรุง กับ แม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ปากคลองผดุงกรุงเกษม ทางตะวันออกเฉียงใต้ของปากคลองนั้น ตรงบริเวณที่ตั้งธนาคารฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้ ทางตะวันออกของธนาคารนั้น เลียบริมคลองขึ้นมาจวนจะถึงตึกนภาวถีปัจจุบันนี้ ใกล้กับถนนเจริญกรุง ทางด้านตะวันตกของถนนนั้น ขนาดกว้างยาวเข้าใจว่าคงเท่ากับที่ตั้งใหม่นี้ เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งไรไม่ปรากฏ
เหตุที่ต้องย้ายวัด
เหตุที่ต้องย้ายวัดจากที่ตั้งเดิมมาตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ เนื่องด้วยต่อมาชาวต่างประเทศที่เป็นพวกฝรั่งมังค่ามาตั้งห้างตั้งหอทำมาค้าขายใกล้บริเวณวัดมากเข้าจนถึงรอบวัด ทำให้โคจรคามของวัดต้องหมดไปโดยปริยาย ทั้งแออัดด้วยคนต่างชาติต่างศาสนา เสนาสนะกุฏิวิหารที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ไม่เป็นสัปปายะ ไม่เหมาะแก่การประพฤติพรหมจรรย์ตามหลักศาสนา ท่านเจ้าอธิการชุ่มสมภารวัดนั้น ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ที่พระครูถาวรสมณวงศ์ ท่านสมภารชุ่มเกรงว่าวัดอาจถูกขายตามคำเล่าลือ ประกอบวัดพระยาไกรต้องถูกย้ายวัดไปในระยะนั้นด้วย ท่านได้ขวนขวายโดยอุบายที่ชอบที่ควรดังปรากฏตามพระราชดำรัสในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในประเภทสาสน์สมเด็จที่ลงพิมพ์ในวรสารศิลปากร ฉบับที่อ้างมาข้างต้นนั้นว่าดังนี้ “วัดแก้วฟ้านั้นเดิมอยู่ตรงบริเวณที่สร้างธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไอ้บัดนี้ รื่องผาติกรรมหม่อมฉันได้เกี่ยวข้องด้วยบ้างแต่เป็นกาลนานมาแล้ว ทูลท่าที่จำได้ วันหนึ่งเจ้าอธิการวันนั้น (ดูเหมือนชื่อชุ่ม) มาหาหม่อมฉันเพื่อขออารักขา ด้วยวัดแก้วฟ้าถูกห้ามไม่ให้เผาศพ เธอปรับทุกข์ว่าการเผาศพได้ผลประโยชน์สำหรับเลี้ยงวัด และวัดนั้นอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านฝรั่ง มีคนไปบุญน้อยกว่าวัดอื่น แม้พระสงฆ์จะบิณฑบาตก็อัตคัด ถ้าถูกตัดผลประโยชน์ในการเผาศพเสียอีก น่ากลัวจะอยู่ไปไม่ได้ หม่อมฉันจะรับพิจารณาดูว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง ไปสืบถามที่กระทรวงนครบาล ได้ความว่าพวกฝรั่งให้กงสุลร้องทุกข์ว่าทนเหม็นกลิ่นศพไม่ไหวจึงต้องห้าม หม่อมฉันเห็นว่าที่จะขอให้เผาศพได้อีกเห็นจะไม่สำเร็จ คิดเห็นทางแก้ไขมีอย่างเดียวแต่ย้ายวัดไปอยู่เสียที่อื่นด้วยพิธีผาติกรรม ก็ที่ดินรอบวัดนั้นเป็นของพระคลังข้างที่แคบทั้งนั้น หม่อมฉันลองไปถามที่พระคลังข้างที่ ก็บอกว่าที่ตรงวัดแก้วฟ้านั้นถ้าเป็นที่เปล่าจะมีราคามาก เพราะอาจปลูกสถานที่ค้าขายได้ดี หม่อมฉันถามเจ้าอธิการชุ่มถึงที่จะทำผาติกรรมเธอก็เห็นด้วย หม่อมฉันจึงกราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โดยเห็นว่า ถ้าโปรดให้พระคลังข้างที่ลงทุนสร้างวัดแก้วฟ้าใหม่แลกเอาที่ดินวัดเดิม มาปลูกสร้างสิ่งซึ่งจะบำรุงการค้าขายให้เจริญจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่แรกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรังเกียจด้วยเกรงจะถูกติเตียน แต่ใคร ๆ ทรงเห็นว่าเป็นผาติกรรมตามพระวินัยไม่ขัดข้อง แล้วจึงโปรดให้ดำเนินการนั้น ก็เวลานั้นถนนสี่พระยาเพิ่งทำแล้ว โปรดให้ซื้อที่ดินผืนใหญ่ริมถนนแปลงนึง สร้างวัดแก้วฟ้าพร้องด้วยสถานที่ต่าง ๆ สำหรับวัดพระราชทานในการผาติกรรมนั้น วัดแก้วฟ้าย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็มีความเจริญมาจนบัดนี้