สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


เสียงกระเบื้องกระทบไผ่

ภิกษุรูปหนึ่งขณะเมื่อศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์องค์แรก แม้จะเพียรพยายามศึกษาขนาดไหน ก็ยังจับจุดสำคัญไม่ได้ หลังจากสิ้นบุญพระอาจารย์ จึงเดินทางไปศึกษากับพระอาจารย์อีกรูปหนึ่ง

พระอาจารย์รูปทีสองถามว่า “ได้ยินมาว่า การเรียนของสำนักนั้น ถามหนึ่งตอบสิบ ถามสิบตอบร้อย เจ้าก็ดูท่าทางฉลาดปราดเปรียว ขอถามหน่อยว่า ก่อนที่พ่อแม่จะให้กำเนิดเจ้า เจ้าเป็นอย่างไร?”

ภิกษุรูปนั้นไม่อาจตอบคำถามนั้นได้ เมื่อถึงที่พักจึงไปค้นดูตำรา ที่มีอยู่หาจนทั่ว ก็หาคำตอบที่จะตอบคำถามนั้นไม่ได้ พลางรำพึงรำพันว่า “วาดรูปขนมปังไม่อาจทำให้หายหิวได้”

หลังจากนั้นก็คอยถามหาคำตอบจากพระอาจารย์ทุกครั้ง แต่พระอาจารย์ตอบว่า “หากข้าอธิบายให้เข้าใจ เกรงว่า วันข้างหน้าเจ้าจะกลับมาด่าข้า สิ่งที่ข้ารู้ย่อมเป็นของข้า ไม่เกี่ยวอะไรกับเจ้า”

เมื่อได้ฟังพระอาจารย์กล่าวเช่นนั้นรู้สึกเสียใจมาก เลยนำ ตำราที่มีอยู่ทั้งหมดไปเผา แล้วตั้งใจมั่นว่า ต่อแต่นี้ไป จะไม่เรียนธรรมะอีกแล้ว ขอเป็นเพียงพระธุดงค์ที่ภิกขาจาร ไปทั่วดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาเสียแรงเพียรร่ำเรียนอีก หลังจากลาพระอาจารย์แล้วก็เดินทางจากไป

วันหนึ่งขณะถากหญ้าอยู่ในสวนไผ่แห่งหนึ่ง บังเอิญถากถูก เศษกระเบื้องไปกระทบกับต้นไผ่ เสียงกระเบื้องกระทบไผ่ดัง กังวานสดใส ในวินาทีนั้นท่านก็รู้แจ้งขึ้นมา

ภิกษุรูปนั้นจึงไปสรงน้ำแล้วจุดธูปไปในทิศทางที่พระอาจารย์อยู่ คำนับพระอาจารย์แล้วพูดว่า“พระอาจารย์มีเมตตาและกรุณา  พระคุณของท่านมีมากกว่าบิดามารดา  หากเมื่อข้าพเจ้าถามแล้วตอบไม่ได้ แล้วท่านตอบให้  การรู้แจ้งวันนี้คงไม่เกิดขึ้น”

เรามักจะได้อ่านนิทานเซนที่ คำตอบของพระอาจารย์มักจะตอบ ไม่ตรงคำถาม ปริศนาธรรมของนิกายเซนมักจะบอกความนัย แอบแฝงให้เข้าใจว่า การใช้ตรรกะ หรือหลักการเหตุผล มาอธิบายให้รู้แจ้งโดยฉับพลันนั้น ไม่อาจอธิบายได้ มีแต่ต้องฝึกฝนปฏิบัติเอาเอง และเมื่อมีเหตุและปัจจัยพร้อม ก็จะรู้แจ้งได้ด้วยตัวเอง

ที่มา หนังสือเรื่อง คุยเรื่องที่มาและรายละเอียดของอารยธรรมเซน