นกที่บินหลงทาง
ที่ภูเขาต้าเยี่ยน มีพระรูปหนึ่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น ท่านเป็นพระที่เทศน์เก่งมาก ท่านมักจะใช้สิ่งที่มีชีวิตรอบตัวสอดแทรกธรรมะ จากนั้นก็ใช้คำง่ายๆแต่งเป็นโศลก
มีอยู่ครั้งหนึ่ง อุบาสกท่านหนึ่งถามท่านว่า
“ มีคนพูดกันว่า การบูชาใดๆต่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงในสากลโลก ก็ไม่เท่ากับการบูชาต่อผู้ที่ดำเนินตามทางแห่งมรรคเพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นอย่างไร ? คนเดินตามทางเดินแห่งมรรคมีบุญกุศลใด “
พระรูปนั้นพูดเป็นโศลก ว่า
“ เพียงแค่มีเมฆหมอกมาบดบัง นกก็ยังหลงทางบินกลับรัง "
" เป็นเพราะว่ามีเมฆหมอกมาปิดทางกลับรังของนก นกจึงหาทางกลับรังไม่ถูก ถ้าเรามัวแต่บูชาพระพุทธองค์ จิตย่อมจดจ่อและยึดติดอยู่กับองค์พระ ทำให้ตัวเองกลับเดินหลงทาง ผู้ที่เดินตามทางแห่งมรรคย่อมทำให้จิตตัวเอง สะอาด และสว่างกลับมารู้จักตัวเอง จิตจึงไม่หลงทาง “
อุบาสกคนนั้นถามต่อว่า โบสถ์วิหารเป็นดินแดนแห่งความสงบ
และสะอาด ทำไมถึงต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ”
พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า
“ เพื่อตีให้เสียงก้องกังวานไป เพื่อมิให้เหล่ามังกรนั่งคำนับ “
วัดที่เงียบสงบต้องตีกลองและเคาะ “ ปลาไม้ ”มีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงอยู่ในนั้น ธรรมดาปลาอยู่ในน้ำ ไม่เคยปิดตา ดังนั้นการเคาะ ”ปลาไม้” จึงเป็นการแสดงถึงความขยันฝึกฝน ไม่เกียจคร้าน การตีกลองก็เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คน เลิกทำบาป และสร้างกุศล
อุบาสกท่านนั้นถามต่ออีกว่า
“ เมื่อปฏิบัติธรรมอยู่กับบ้านก็ได้ ทำไมถึงต้องออกบวชอีก “
พระรูปนั้นตอบเป็นโศลกว่า
“ นกยูงแม้จะมีปีกที่สวยงาม แต่ก็บินได้ไม่สูงเฉกเช่นนกอื่น “
" การปฏิบัติธรรมที่บ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อบวชแล้วย่อมจะตั้งมั่น และแน่วแน่กว่า ย่อมจะไปได้ไกลกว่า “
ข้อมูลโดย http://www.dhammajak.net/zen/28.html