ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละ จะยิ่งช้า
เรื่อง "ยิ่งให้เร็ว นั้นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ จะมีประโยชน์มาก สำหรับ ครูบาอาจารย์ อาตมา จึงเลือกนำมาเล่า ให้ฟัง "ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละ จะยิ่งช้า" เรื่องนี้ ถึงท่านจะ ไม่เรียก ตนเองว่า ครู ก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟัง ในฐานะที่ว่า จะเป็นปัจจัย เกื้อกูล แก่การ เข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม เรื่องเล่าว่า มีหนุ่มคนหนึ่ง เขาอยากจะเป็น นักฟันดาบ ที่เก่งกาจ เขาไปหา อาจารย์สอนฟันดาบ ให้ช่วยสอนเขา ให้เป็นนักฟันดาบ เขาถาม อาจารย์ว่า จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ ตอบว่า ประมาณ ๗ ปี เขาชักจะรวนเร เพราะว่า ๗ ปี นี้มันเป็นเวลา มิใช่น้อย ฉะนั้น เขาขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายาม ให้สุดฝีมือ สุดความสามารถ ในการศึกษา ฝึกฝน ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้ จะใช้เวลา สักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ต้องใช้เวลา สัก ๑๔ ปี" แทนที่จะเป็น ๗ ปี กลายเป็น ๑๔ ปี ฟังดู
หนุ่มคนนั้น ก็โอดครวญ ขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว จะตาย อยู่รอมร่อแล้ว เขาจะ พยายาม อย่างยิ่ง ให้บิดา ของเขา ได้ทันเห็น ฝีมือ ฟันดาบของเขา ก่อนตาย เขาจะแสดง ฝีมือฟันดาบ ของเขา ให้บิดา ของเขา ชม ให้เป็นที่ชื่นใจ แก่บิดา เขาจะพยายาม อย่างยิ่ง ที่จะแสดง ความสามารถ ให้ทันสนองคุณ ของบิดา จะต้องใช้เวลา สักเท่าไร ขอให้อาจารย์ ช่วยคิดดูให้ดีๆ
ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง ๒๑ ปี" นี้มันเป็นอย่างไร ขอให้นึกดู แทนที่จะ ลดลงมา มันกลายเป็น เพิ่มขึ้นเป็น ๒๑ ปี หนุ่มคนนั้น จะเล่นงาน อาจารย์ อย่างไร ก็ไม่ได้ เพราะเป็นอาจารย์ จะทำอย่างอื่น ก็ไม่ถูก นึกไม่ออก เพราะไม่มีใคร จะเป็นอาจารย์ สอนฟันดาบ ให้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็น อาจารย์ ของประเทศ ดังนั้น เขาก็ ซังกะตาย อยู่ไปกะอาจารย์ ด้วยไม่รู้ว่า จะทำอย่างไรดีนั่นเอง
หลายวันต่อมา อาจารย์ก็ใช้ คนคนนี้ แทนที่จะเรียก ไปสอน ให้ใช้ดาบ ฟันดาบ กลับให้ทำครัว ให้ทำงานในครัว ให้ตักน้ำผ่าฟืน หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เรียกว่า ต้องทำงานในครัว
หลายวันล่วงมา วันหนึ่ง อาจารย์ผลุนผลัน เข้าไปในครัว ด้วยดาบสองมือ ฟันหนุ่มคนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้สึกตัว อุตลุต เป็นการใหญ่ เขาก็ต้องต่อสู้ ไปตามเรื่อง ตามราว ของเขา ตามที่เขาจะสู้ได้ โดยใช้อะไร แทนดาบ หรือ ด้วยมือ เปล่าๆ หรืออะไรก็สุดแท้ สองสามอึดใจ แล้วก็เลิกกัน อาจารย์ ก็กลับไป แล้วต่อมา อีกหลายวัน เขาก็ถูกเข้า โดยวิธีนี้อีก และมีบ่อยๆ อย่างนี้เรื่อยไป ไม่กี่ครั้ง เขาก็กลายเป็น นักฟันดาบ ขึ้นมาได้ โดยไม่รู้สึกตัว จนกระทั่ง อาจารย์บอกว่า กลับบ้านได้ คือจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาหนุ่มคนนี้ ก็เป็น นักดาบ ลือชื่อ ของประเทศญี่ปุ่นไป นิทานของเขาก็จบ.
ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือว่า การทำอะไร ด้วยความ ยึดมั่น ถือมั่น ว่า ตัวตน ว่าของ ของตนนั้น ใช้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะเป็น ผลดีเลย คือ ถ้าหนุ่มคนนี้ ยังคิดว่า กูจะดี กูจะเด่น อยู่ละก็ มีตัวกู เข้ามาฝึก เป็นตัวกู ที่ใหญ่เอาการ อยู่เหมือนกัน ทีนี้ ถ้ายิ่งจะทำให้ดีที่สุด กูจะทำให้เก่งที่สุด ให้เร็วที่สุด อย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกู มันยิ่งขยาย โตออกไปอีก ถ้ายิ่งจะให้ทัน บิดาเห็น บิดาแก่มากจะตายแล้ว ตัวกู มันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อน ออกไปอีก อย่างนี้ จิตไม่เป็นสมาธิได้ จิตเต็มอัดอยู่ด้วยตัวกู กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตว่าง ไม่เป็นตัวสติปัญญา อยู่ในจิต ไม่สามารถจะมี สมรรถภาพเดิมแท้ของจิต ออกมาได้ เพราะมัน กลัดกลุ้ม อยู่ด้วยอุปาทาน ว่า ตัวกูของกู หรือ ความเห็นแก่ตัวนี้ มันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active อะไรหมด ฉะนั้น ถ้าขืนทำไปอย่างนี้ จริงๆ แล้ว จะต้องใช้เวลา ๗ ปี หรือว่า ๑๔ ปี หรือว่า ๒๑ ปีจริงๆ
ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่า ตัวกู ของกู กูจะเอาใน ๗ ปี หรือจะให้ทันบิดาเห็น อย่างนี้ไม่มีเลย กำลังเป็นจิตที่ว่างอยู่ ถึงแม้ว่า อาจารย์จะผลุนผลัน เข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฏิภาณของจิตว่าง หรือ จิตเดิมแท้นี้ ก็มีมากพอ ที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการ เรียกร้องขึ้นมา หรือ ปลุกขึ้นมา จากหลับ ปลุกจิตอันนี้ ขึ้นมาจากหลับ ตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ มาเป็นจิตที่ เบิกบานเต็มที่ ซึ่งต่อไป ก็เอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็น ผู้สำเร็จหลักสูตร โดยวิธี ประหลาด นั้น ภายในไม่ถึง ๗ ปี หรือ ภายในไม่ถึงปี อย่างนี้เป็นต้น
เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่าน ครูบาอาจารย์ สนใจที่จะนึกดูว่า ความรู้สึกที่เป็น ตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างว่า เราจะยิงปืน หรือ ยิงธนู หรือว่า ขว้างแม่น ในการกีฬาขว้างแม่น ถ้าจิตของผู้ขว้าง มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียง ของโรงเรียนของกู ของมหาวิทยาลัยของกู รัวอยู่ในใจแล้ว ไม่มีวันที่จะ ขว้างแม่น หรือขว้างถูกได้ มันสั่นระรัว อยู่ด้วยตัวกู หรือของกูนี้ ทั้งนั้น ที่ถูกนั้น เมื่อมีความตั้งใจ ถูกต้อง ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง ของโรงเรียน หรือของอะไรก็ตาม แล้วเขาต้องลืมหมด ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนของกู มหาวิทยาลัยของกู เหลืออยู่แต่สติปัญญา และ สติสัมปชัญญะ ที่จะขว้างด้วย อำนาจสมาธิ เท่านั้น คือพูดตรงๆ ก็ว่า ขณะนั้น มีแต่จิตที่เป็นสมาธิ กับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกู ไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตเดิม เป็นจิตตามสภาพจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ไม่สั่น ปรกติ เป็น active ถึงที่สุดแล้ว เขาจะขว้างแม่น เหมือนอย่างกะ ปาฏิหาริย์ นี้ขอให้เข้าใจอย่างนี้
หรือว่า ในการจัดดอกไม้ในแจกัน คนจัดจะต้องทำจิตให้ว่าง จากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะ ของกู เสียก่อนแล้ว เสียบดอกไม้ ไปด้วยจิตว่าง จิตบริสุทธิ์ นั่นแหละ คือ สติปัญญา ล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู เจืออยู่ ก็จะได้ แจกันที่สวยที่สุด ไม่เคยปรากฏ มาแต่ก่อน นี่เขาถือเป็นหลัก ของนิกายเซ็น ฉะนั้น ขอให้สนใจ ในการที่จะทำอะไร หรือมีชีวิตอยู่ ด้วยความ ไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมาก สำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็ก ให้ทำงาน ฝีมือดี ด้วยจิตใจ ที่ปรกติ ไม่สั่น ในระบบประสาท ไม่สั่น ในระบบของ ความคิดนึก หรือว่า เมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัว อยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้ว จะไปมัวห่วง กลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้ จะไปโดดน้ำตาย เป็นต้น จะต้องไปนึกทำไม นั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้น จะต้อง ลืมสิ่งเหล่านั้น หมด และลืม แม้แต่กระทั่ง ตัวเอง คำว่า "ลืมตัวเอง" นี้ถ้าฟังไม่ดีแล้ว ก็จะไม่เข้าใจ แล้วจะรู้สึกเถียง แย้งขึ้นมาว่า เป็นไปไม่ได้ ที่จริง เราลืมตัวเราเอง นี้ได้ ในลักษณะ หรือกรณีเช่น:
เด็กๆ ในขณะสอบไล่นั้น จะต้องลืมหมด แม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจ แต่ว่า ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะว่าอย่างไร ถ้าจิตใจ ว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ ต่างๆ ที่เคยสะสม มาตั้งแต่แรก เรียนนั้น จะมาหา พรู มาทีเดียว ให้เขาพบคำตอบว่า อย่างนั้น อย่างนี้ และถูกต้องที่สุด แต่ถ้าเขากลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู ของกู แล้ว แม้เขาจะเคยเรียน มามากอย่างไร มันก็ไม่มา มันมีอาการ เหมือนกับ ลืม นึกไม่ออก นั่นแหละ แล้วมันจะ ระส่ำระสาย กระสับกระส่าย รวนเรไปหมด ก็เลยตอบ ไม่ได้ดี ถ้าสอบไล่ ด้วยจิตว่างนี้ จะได้ที่หนึ่ง หรือ ยิ่งกว่า ที่หนึ่ง เสียอีก ฉะนั้น เขาจึงมีการ สอนมาก ในเรื่องที่ว่า อย่าทำจิต ที่สั่นระรัว ด้วยตัวกู ของกู เพราะว่า การทำอย่างนั้น ยิ่งจะให้เร็ว มันจะ ยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานว่า "ยิ่งให้เร็ว มันยิ่งช้า" หรือ ที่เราจะพูดว่า จะเอาให้ได้ มันยิ่งจะไม่ได้เลย หรือว่า จะไม่เอาอะไรเลย มันยิ่งจะ ได้มาหมด คือ ไม่มีตัวเรา ที่จะเอาอะไรเลยแล้ว มันจะได้มาหมด
นิทานเซ็น เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ