ศีลกับปัญญาต่างอาศัยกัน
สมัยนั้น พระพุทะเจ้าประทับอยู่ ณ สระโบกขรณี คัคคราแขวงเมืองจัมปา ในโอกาสที่เสด็จจาริก พร้อมด้วย ภิกษุหมู่ใหญ่ราว ๕๐๐ รูป ครั้งนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะ ผู้ครองนครจัมปาได้เข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงค่าของคนว่า มิได้อยู่ที่ชาติกำเนิดหรือตระกูล หากแต่อยู่ที่การกระทำความดี ทำประโยชน์ทั้งส่วนตนและผู้อื่นเป็นสำคัญ ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ ทรงอธิบายเรื่องศีลกับปัญญา ว่าต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน การปฏิบัติธรรมจึงจะบรรลุเป้าหมาย ท่านโสณทัณฑะพราหมณ์ได้มีความเห็นสอดคล้องด้วย
พระพุทธองค์จึงตรัสสรุปในตอนท้ายพระสูตรว่า
“ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ? ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ? ศีลก็มีในบุคคลนั้นปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญา ว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น”
โสณทัณฑสูตร ๙/๑๔๘
ส่วนเสริม
ในพระสูตรนี้ มีสาระที่ประทับใจผู้เขียนมาก ก็ตรงที่ทรงกล่าวถึงศีลกับปัญญาว่า เป็นเสมือนคน “ล้างมือด้วยมือ” หรือ “ล้างเท้าด้วยเท้า” พออ่านปุ๊บ ก็มองเห็นภาพพจน์ปั๊บในทันที นับว่าชัดเจนมาก ไม่ต้องอธิบาย เพราะผู้เขียนเคยเป็นลูกชาวนา ต้องย่ำอยู่กับดินโคลนมาตลอด โดยเฉพาะหน้าฝน จะต้องย่ำอยู่กับเลนทั้งวัน รองเท้าไม่มีใส่ เวลาจะขึ้นบ้านก็จะต้องล้างเท้าก่อน การล้างเท้าที่ง่ายและสะดวก มันก็จะต้องเอาเท้าด้วยกันถูจึงจะสะดวก และเมื่อล้างมือก็จะต้องเอามือต่อมือถูกัน ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ศีลกับปัญญาจะมีความสำคัญเท่ากัน มิฉะนั้นก็คงจะรักษาศีลให้มากไว้ในสมัยก่อนบวชแล้ว เพิ่งจะมาค้นพบในพระไตรปิฎกเมื่อบวชแล้วนี่เอง
ยิ่งมาบวชแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นด้วยอย่างเรื่องศีลนี้ได้ชัดเจนมาก พระที่รู้จักคุ้นเคยกันหลายรูป ต้องปาราชิกไปบ้างต้องมีเรื่องมัวหมองบ้าง มีปัญหาต่างๆ บ้าง ปฎิบัติธรรมไม่ก้าวหน้าบ้าง.....ล้วนแต่ท่านไม่ให้หรือไม่เห็นความสำคัญของศีล แต่ไปเห็นว่าสมาธิ สติ หรือปัญญาตัวเดียวเท่านั้นสำคัญ เลยไม่สนใจศีล ถึงบางแห่งกินข้าวไม่ต้องประเคนก็มี
ขออภัยผู้เขียนไม่อยากใช้คำว่า “ฉัน” เพราะการกินโดยไม่ประเคน มันก็เหมือนกับชาวบ้าน แล้วจะเรียกว่า “ฉัน” ได้อย่างไร ?
ยังมีความเข้าใจผิด สำหรับผู้ที่อ่อนสุตะอยู่ว่า เมื่อเราเจริญสมาธิ สติ หรือวิปัสสนาอยู่ก็ตาม ขณะนั้นเราก็มีศีลครบถ้วนแล้ว นับว่าเป็นความเห็น ก็ยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก เพราะการปฏิบัติธรรม (สมาธิ สติ ปัญญา) ต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของจิต ส่วนศีลนั้นเรารู้กันอยู่แล้วว่า ควบคุมกายกับวาจา ไม่เกี่ยวกับจิต ยกตัวอย่าง ถ้าเราคิดจะฆ่าสัตว์ตอนนั้นศีลของเราก็ยังไม่ขาด เพราะเรายังไม่ได้ลงมือฆ่า หรือยังไม่ได้ใช้ใครเขาฆ่า
จริงอยู่ ในขณะที่เรากำลังเจริญภาวนาอยู่นั้น เราย่อมจะล่วงละเมิดศีลไม่ได้เลย ไม่ว่าทางกายหรือวาจา ในตอนนั้นแม้ว่าเราจะยังไม่ตั้งใจรักษาศีล มันก็เหมือนรักษาอยู่แล้วแต่ใครเล่าจะเจริญธรรมอยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ? มัน ก็จะต้องประกอบการงานอื่นๆ บ้าง ในช่วงที่เราประกอบกิจทางกายและวาจาอยู่นั้นแหล่ะถ้าไม่มีศีลมัน ก็ย่อมจะเกิดโทษขึ้นได้ ศีลจึงต้องมีอยู่เป็นพื้นฐานหรือมีอยู่ตลอดเวลา ส่วนธรรม (ทางจิต) นั้นจะมีบ้างไม่มีบ้าง ก็ยังไม่ก่อเวรภัยอะไรนักหนามิใช่หรือ ? เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่าศีล
ฉะนั้น ท่านที่เคยเห็นศีลว่าเป็นของต่ำ ก็โปรดเปลี่ยนทิฐิเสียใหม่เถิด แม้ว่าศีลจะดับทุกข์ทางใจไม่ได้แต่ก็ป้องกันภัยและเวรได้ และจะช่วยเสริมให้ปัญญาคมกล้าเพื่อดับทุกข์ทางใจได้อย่างเด็ดขาดด้วย ถ้าท่านไม่มีศีลเสียแล้ว ท่านจะใช้อะไรเป็นพื้นฐานต่อยอดสมาธิและปัญญากันเล่า ?…..
อานิสงส์ (ผล) แห่งการรักษาศีล ๕
- เป็นผู้มีอายุยืนนาน
- เป็นผู้มีโภคทรัพย์มาก
- เป็นผู้มีปัญญาคมกล้า
เบญจสีลสมาทานิยเถรปทาน ๓๒/๙๒
ที่มา http://www.dhammajak.net/book-dhammaraksa/-2-2.html