ศีล ๓
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี
ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศ (สวด) ทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทเหล่านี้ พระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ ! ก็เธอสามารถจะศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ และอธิปัญญาสิกขา ๑ ได้หรือ ?”
ภิกษุวัชชีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถจะศึกษาได้ในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ และอธิปัญญาสิกขา ๑ พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ ! เพราะฉะนั้นแล เธอจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ และอธิปัญญาสิกขา ๑ เมื่อใดเธอจักศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี และจักศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี เมื่อนั้น เมื่อเธอนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาอยู่ก็ดี และศึกษาอธิปัญญาสิกขาอยู่ก็ดี จักละราคะ โทสะ และโมหะเสียได้ เพราะละราคะ โทสะ และโมหะเสียได้ เธอนั้นจักไม่กระทำกรรมอันเป็นอกุศล จักไม่เสพกรรมที่เป็นบาป”
ครั้นสมัยต่อมา ภิกษุนั้นศึกษาแล้ว ทั้งอธิศีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา และทั้งอธิปัญญาสิกขา เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี และศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี ย่อมละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เพราะละราคะ โทสะ และ โมหะเสียได้ เธอมิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป ฯ
วัชชีปุตตสูตร ๒๐/๒๖๐
ส่วนเสริม
พระสูตรนี้มีสาระหลากหลายตามแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน สำหรับผู้เขียนพอจะสรุปได้จากปัญญาอันน้อยนิด ดังนี้
๑. ในห้วงนั้น พระวินัยหรือศีลของพระคงเพิ่งจะมีแค่ ๑๕๐ ข้อ แม้เพียงเท่านี้พระชาววัชชีบุตรก็แหกปากร้องลั่นว่า รักษาไม่ไหวแล้ว ศีลมันมากเหลือเกิน
๒. พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ฝึกคนที่ยอดจริงๆ ทรงรวมสิกขา คือ ข้อปฏิบัติให้เหลือเพียง ๓ อย่าง แท้ที่จริง ๓ อย่างนี้ว่าไปทำไมมีกลับมากกว่าศีล ๑๕๐ ข้อเสียอีก เพราะมิได้รักษาแต่กายและวาจาเท่านั้น แต่ได้ครอบคลุมไปถึงจิตและปัญญาด้วย (แต่พระวัชชีบุตรกับปฏิบัติได้) พุทธอุบายนี้ต้องนับว่าเป็นจิตวิทยาชั้นยอด แม้ว่าจะยากลำบากในเชิงปฏิบัติ แต่เมื่อคนเห็นว่ามันมีน้อยความย่อท้อจึงไม่มี แต่จะเกิดขันติและวิริยะที่จะปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และท่านก็ทำจนสำเร็จได้จริง
๓. การรักษาศีลโดยมีปัญญาร่วมด้วย มีการฝึกฝนอบรมจิตร่วมด้วย เป็นการรักษา “ต้นศีล” (ไม่ใช่ต้นธรรมต้นธาตุนะ) เมื่อรักษาศีล (จิต) ได้แล้ว ปลายศีลคือการควบคุมกายและวาจา มันก็จะไปไหนเสีย ? รักษาจิตไว้ได้เพียงอย่างเดียว ก็ได้ชื่อว่าย่อมรักษาทุกสิ่งไว้ได้ทั้งหมดในโลก !
ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วจะเอาอะไรไปรักษาจิตล่ะ ? ก็เอา “สติ” น่ะซิไปรักษาจิต อย่างอื่นไม่มี
แล้วสติอย่างเดียวจะใช้ดับทุกข์ได้หรือ ? ไม่ได้ , สติอย่างเดียวใช้ดับทุกข์ไม่ได้ ต้องมีปัญญาร่วมด้วย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในที่นี้ว่าถึงการรักษาศีล ถ้ามีสติควบคุมจิตไว้ได้ทั้งกายและวาจา ก็ย่อมจะไม่ละเมิดศีล แต่กิเลสที่เกิดทางใจนั้นยังไม่ได้พูดถึง ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงการรักษาศีลที่ “ครบวงจร” จริงๆ คือ การละราคะ โทสะ และโมหะด้วย จึงทรงนำเอาอธิจิตและอธิปัญญาเข้ามาร่วมด้วย
ในปัจจุบันนี้ ถ้านักบวชรูปใดมีความเห็นว่าศีล ๒๒๗ ข้อมันมากไปรักษาไม่ได้ จะหันมารักษาเพียง ๓ ข้อ ตามแนวของพระพุทธองค์ก็ได้ หรือเห็นว่า ๓ ข้อมันยากไปอีกเพราะคลุมไปหมด จะเอาเพียงศีล ๑ ก็ยังได้ นั่นคือ การเอาสติควบคุมจิต ไว้เพียงอย่างเดียว เมื่อสามารถคุมจิตไว้ได้เพียงอย่างเดียว ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ก็เป็นอันว่าได้ถูกรักษาไว้แล้วโดยอัตโนมัติ