สงเคราะห์โลงศพฟรี สงเคราะห์เผาศพฟรี สงเคราะห์ลอยอังคารฟรี แก่ผู้ยากไร้ไร้ญาติ


กรรมดีนั่นแหละดวงดี โดย สยาม ราชวัตร

เมื่อพูดถึงเรื่อง “กรรม” และเรื่อง “ดวง” แล้ว ผู้คนในสังคมปัจจุบันนี้ส่วนมากมีความเข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของอำนาจลึกลับ ที่ดลบันดาลให้เป็นไป บังคับบัญชาชีวิตของตนเอง ทุกคนต้องการ “ดวงดี” ให้เกิดขึ้นกับตนเองเสมอ เมื่อประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่พึงปรารถนาแล้ว ก็โทษไปที่ดวงว่า “ดวงไม่ดี” “โชคไม่ดี” “โชคไม่เข้าข้างเรา” และในสภาพเช่นนี้ ทำให้อาชีพหนึ่งเจริญรุ่งเรืองสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับอาชีพนี้เป็นอย่างมาก นั่นก็คืออาชีพ “หมอดู”

ผู้คนแห่กันเข้าไปหาหมอดู โหราจารย์ เพื่อให้ดูดวง ผูกดวง ทำนายโชคชะตาราศี แก้ดวงผูกดวงของตนให้ดี เพื่อให้ชีวิตมีความโชคดี ประสบโชคลาภ ร่ำรวย โดยผู้คนที่เข้าหาหมอดูนั้นต่างมีความคิดกันว่า หมอดูเท่านั้นจะช่วยให้เขาโชคดี ดวงดีขึ้น

ปัจจุบันจะเห็นว่าลูกค้าของหมอดู มีทุกฐานะทุกอาชีพ ตั้งแต่ชนชั้นล่าง จนถึงระดับคนที่มีฐานะสูง จะพูดว่า ตั้งแต่ยาจกถึงเศรษฐี ก็ว่าได้ แม้แต่ในวงคนมีการศึกษาก็ยังมีความเชื่อในเรื่องดวง หมอดูไปนั่งที่ไหนก็มีผู้เข้ามาให้ดูดวง ดูลายมือ ดูโชคชะตากันอย่างล้นหลาม

แม้ในสมัยพุทธกาลเองก็มีผู้คนที่เชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลโชคชะตาเหมือน กัน จนกลายเป็นลัทธิตั้งเป็นสำนักกันมากมาย พอสรุปได้ 3 ลัทธิความเชื่อใหญ่ ๆ คือ

1. ลัทธิปุพเพกตวาท พวกนี้ถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนชาติที่แล้วมา

2. ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท พวกนี้ถือว่าการที่จะเป็นอะไรๆ นั้นก็เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็นไป

3. ลัทธิอเหตุวาท พวกนี้ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่ความบังเอิญเป็นไป ลัทธิโชคชะตา

ถามว่า ณ จุดตรงนี้ พุทธศาสนาเห็นด้วยหรือไม่

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งการลงมือกระทำ เป็นศาสนาที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ไม่เชื่อในอำนาจดลบันดาล หลักพุทธธรรมทุกหลักธรรมมุ่งให้มนุษย์แก้ปัญหาด้วยปัญญาของตนเอง

เมื่อพูดถึงหลักการแล้วแน่นอน การเชื่อเรื่องดวงขัดกับหลักพุทธศาสนา ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับวิธีการของหมอดู ผู้ทำนายโชคชะตา พวกโหราจารย์ทั้งหลาย ก็เพราะพุทธศาสนามองว่า เรื่องนี้มีข้อเสียและจุดอ่อนมากกว่า ขัดกับหลักพุทธศาสนา 4 ประการ คือ

1. ขัดหลักกรรม ความสำเร็จด้วยการกระทำตามเหตุผล
2. ขัดหลักไตรสิกขา การฝึกฝนพัฒนาตนเอง
3. ขัดหลักการพึ่งตนเองและมีอิสรภาพ
4. ขัดหลักความไม่ประมาท

การพูดถึงเรื่องดวงชะตาราศีของฝ่ายหมอดูนี้ ต้องโยงไปถึงหลักกรรมในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบรมศาสดา ทรงสอนเรื่องหลักกรรมว่าเป็นสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบพบเจออยู่ทุกขณะ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม คำว่า “กรรม” ในที่นี้ มีหลายคนที่เข้าใจผิดว่า เป็นอำนาจลึกลับที่ดลบันดาลชีวิตให้เป็นไป หรือเข้าใจว่า กรรมก็คือดวงคนนี่แหละ การที่ร่ำรวยหรือยากจนก็เพราะกรรมเก่าในอดีตชาติปางก่อน มองกรรมในแง่ของผลร้ายของกระทำชั่วในอดีตชาติ มองกรรมในแง่ชั่วร้ายไม่ดี เป็นผลของการกระทำ เป็นเรื่องร้ายๆ เป็นเรื่องทุกข์ เรื่องโศก มุ่งไปเฉพาะในอดีตเท่านั้น เราจึงมักได้ยินคำพูดเหล่านี้อยู่บ่อยๆ “ก้มหน้ารับกรรม” “ชาตินี้มีกรรม” “สุดแต่เวรกรรมจะพาไป” “กรรมของเรา”

แล้วความหมายที่ถูกต้องของ “กรรม” คืออย่างไร ? คำว่า “กรรม” นี้ ความหมายที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาที่แท้จริงที่พุทธองค์ทรงตรัสสอน หลักพื้นฐานบอกไว้ว่า กรรมก็คือการกระทำนั่นเอง การกระทำอันนี้ไม่ได้หมายถึงตัวผล แต่เป็นตัวการกระทำ ในแง่เป็นเหตุมากกว่าเป็นผล จะมุ่งกาลเป็นอดีตก็ได้ ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ ไม่เฉพาะต้องเป็นอดีตอย่างเดียว คือปัจจุบันที่ทำอยู่ก็เป็นกรรม จะมองในลักษณะว่าดีหรือชั่วก็ได้ทั้ง 2 ด้าน คือกรรมดีก็มี กรรมชั่วก็มี เป็นคำที่เป็นกลางๆ แล้วแสดงออกได้ทั้งทางกายทั้งวาจาทั้งใจ

เพราะฉะนั้นในความหมายที่ถูกต้องแล้ว กรรมก็หมายถึง “การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จะแสดงออกทางกายก็ตาม (กายกรรม) วาจาก็ตาม (วจีกรรม) ทางใจก็ตาม (มโนกรรม) เป็นอดีตก็ตาม ปัจจุบันก็ตาม อนาคตก็ตาม ดีหรือชั่วก็ตาม เป็นกรรมทั้งนั้น”

มีพุทธพจน์ที่รับรองคือ “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” ความหมายที่พูดกันอยู่ทั่วไปมุ่งไปเฉพาะอดีตเสียมากกว่า จึงทำให้เกิดความสับสนคลาดเคลื่อนในความหมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องกรรมให้ถูกต้อง เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่หลงงมงาย ไม่ถูกหลอกอีกต่อไป และไม่ต้องพึ่งหมอดูให้ผูกดวงอีกต่อไป

การที่จะให้เข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องกรรมนี้ ต้องมีทัศนคติทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

1. ทัศนคติต่อตนเอง ทัศนคติของคนทั่วไปมองในแง่ตนเองแล้วรู้สึกย่อท้อ ทอดธุระ ยอมแพ้ ถดถอย และไม่คิดปรับปรุงตนเอง เช่นคำพูดในประโยคว่า “ชาตินี้มีกรรม” หรือว่า “ เราทำมาไม่ดี ก็ก้มหน้ารับกรรมไปเถิด”

การ พูดอย่างนี้เดิมอาจจะมุ่งหมายว่า ในเมื่อตนเองทำไว้ไม่ดีก็ต้องยอมรับผลของการกระทำนั้น เป็นความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง แต่พุทธศาสนาไม่ต้องการให้หยุดชะงักแค่นั้น แต่ต้องการให้คิดปรับปรุงตนเองต่อไป คือมีทัศนคติต่อตนเองให้ได้ 2 ขั้นตอนคือ

(1) เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
(2) ในเมื่อยอมรับส่วนที่ผิดแล้ว จะต้องคิดแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อให้ถูกต้อง และดีขึ้นต่อไปด้วย

จะยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราสอบตก เราก็ต้องยอมรับว่าเราตก แล้วหาทางแก้ไขตกเพราะอะไร ผิดพลาดตรงไหนแล้วปรับปรุงจุดอ่อนตรงนั้นเพื่อให้สอบได้ต่อไป ไม่ใช่ไปโทษว่าเป็นกรรมเก่าไม่ดีจึงสอบไม่ได้ ต้องไปบนบานศาลกล่าว ต้องไปผูกดวงใหม่

2. ทัศนคติต่อผู้อื่น เมื่อเราพบเห็นคนอื่นได้รับภัยพิบัติเหตุร้ายอะไรขึ้นมา เราต้องพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผล เมื่อเห็นผลหรือสิ่งใดปรากฏขึ้นมา ก็ให้พิจารณาว่า นี่ต้องมีเหตุ เมื่อเขาได้ประสบผลร้าย ได้ถูกลงโทษอย่างนี้มันก็ต้องมีเหตุ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำไม่ดีของเขาเอง

อันนี้แสดงถึงความมีเหตุมีผล คือวางใจเป็นกลาง พิจารณาให้เห็นเหตุผลตามความเป็นจริงเสียก่อน อย่างนี้ก็เป็นการแสดงอุเบกขาที่ถูกต้อง อุเบกขาที่ถูกต้องก็เพื่อดำรงธรรมไว้ ดำรงธรรมอย่างไร การวางใจเป็นกลาง ในเมื่อเขาสมควรได้รับทุกข์โทษนั้นตามสมควรแก่การกระทำของตน เราต้องวางอุเบกขา เพราะว่าจะได้เป็นการรักษาธรรมไว้ แต่จะหยุดเพียงแค่อุเบกขานี้ไม่ได้ ต้องมีกรุณาตามมาด้วย คือต้องคิดว่า เมื่อเขาได้รับทุกข์ภัยแล้วเราควรจะช่วยเหลืออะไรได้บ้างเพื่อให้เขาพ้น ทุกข์นั้น และพบความสุขเจริญได้อย่างไร อันนี้มีความเมตตากรุณาแฝงอยู่ด้วย ไม่ใช่เป็นสักแต่ว่าอุเบกขาอย่างเดียว บางทีคนเราลืมตรงจุดนี้ไปเสียหมด พอไปเห็นคนยากจนอะไรต่ออะไร ก็มองว่าเป็นกรรมของสัตว์หมด เลยไม่ได้คิดแก้ไขปรับปรุงหรือช่วยเหลือกัน ทำให้ขาดความกรุณาไป ฉะนั้นแนวทางที่ถูกต้องในแง่ทัศนคติต่อผู้อื่นควรมี 2 ขั้นตอนคือ

(1) มีอุเบกขาด้วยเหตุผล เพื่อรักษาความเป็นธรรมหรือดำรงธรรมของสังคมไว้
(2) มีเมตตากรุณาด้วย เพื่อประโยชน์ของบุคคลและคนส่วนใหญ่ด้วย
เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าพุทธศาสนิกชนสร้างทัศนคติและค่านิยมในเรื่องกรรมให้มีความเข้าใจที่ถูก ต้องตามหลักธรรมของพุทธองค์แล้ว หมอดู โหราจารย์ ดวงดาว ไสยศาสตร์ ก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป พร้อมที่จะสู้ต่อไปด้วยศักยภาพของเรา ไม่ย่อท้อ อ่อนแอต่ออุปสรรคใดๆ

ปรับ ปรุงแก้ไขอย่างมั่นใจและมั่นคง ดวงดีอยู่ที่การกระทำของเราเองใช่อยู่ที่ไหนเลย
อยากมีดวงดี ต้องสร้างเหตุที่ดีคือการกระทำที่ดีที่ถูกต้อง ไม่ต้องรอไปผูกดวง
พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ ทุกๆ คนเก็บเกี่ยวผลได้เท่าที่ตนได้หว่านเหตุไว้

พุทธศาสนาต้องการนำเราออกจากกรงขังของตัวเราเอง โดยตัวเราเอง ถ้ามีสิ่งอื่นมีอำนาจเหนือการกระทำของเรา เราก็ไม่อาจออกจากกรงขังไปได้

ถ้า ดวงดาวมีอำนาจเหนือเรา ความหลุดรอดก็เป็นสิ่งที่ไม่ต้องหวัง แต่เราอาจหวังความรอดได้ ถ้าเรามีอำนาจเหนือดวงดาวและสิ่งอื่นๆ จนกระทั่งเหนือกรรมของเราเองในที่สุด
นั่นจึงจะเป็นความรอดพ้นที่แท้จริง

สุดท้ายขอฝากบทกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุไว้เป็นแง่คิด

เราดี ดีกว่าดวงดี
เพราะดีนั้นมีที่เรา ดีกว่าที่ดวง
ทำดี นั่นแหละเราหน่วง
เอาดีทั้งปวง มาทำให้ดวง มันดี
ดวงชั่ว ไม่ได้เลยนี่
ถ้าเราขยันมี ความดีทำไว้ เป็นคุณ

อยู่ดี ตายดี เพราะบุญ ทำไว้เจือจุน ตลอดชีวิต ติดมา
ดวงดี มีอยู่อัตรา ก็เพราะเหตุว่า เราทำดีเป็น เห็นมั๊ย
เหตุนั้น เราท่านใดใคร ทำดีเสมอไป ดวงดีจักมีสมบูรณ์ ฯ

ที่มา http://talk.mthai.com/topic/81720