ถ้าไม่มีฐานก็ไม่มียอด
ถ้าไม่มีฐานก็ไม่มียอด
พระอาจารย์เล็ก เทศน์ปีใหม่
วันศุกร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๒
ตอนกราบขอขมาพระรัตนตรัย
จัดเป็นบุญใหญ่ เป็นบุญในอปจายนมัย การแสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่สมควร ถ้าหากว่าเราจะนับกันตามสิ่งที่ได้แสดงออก ก็เป็นพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ อปจายนมัย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เราพบเห็น มีความเย็นตาเย็นใจเกิดขึ้น เกิดความรักความเมตตาต่อผู้ที่แสดงออก เป็นการสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของผู้อื่น ดังนั้นถึงได้เกิดบุญอย่างนี้ขึ้น บางทีเราสงสัยว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ มีอปจายนมัย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่ด้วย ก็เป็นด้วยหลักการทั้งหลายที่ว่ามา
คราวนี้ในส่วนการกล่าวขอขมาต่อพระรัตนตรัย เป็นการที่ได้ปลดเปลื้องกรรมใหญ่ที่ได้สร้างเอาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กรรมส่วนนี้จะคอยขวางให้การเข้าถึงธรรมของพวกเราช้าลง เพราะว่ากติกาข้อแรกของการเป็นพระอริยเจ้า คือ ต้องเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยกาย วาจา และใจ ถ้าหากว่าเคยล้วงล้ำก้ำเกินเอาไว้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะคอยขวางอยู่ตลอด โอกาสเขาถึงมรรคผลจะล่าช้าไป เนิ่นช้าไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำในวันนี้ จัดว่าเป็นบุญใหญ่มาก คือ นอกจากจะเป็น ๑ ใน ๑๐ ของบุญกิริยาวัตถุที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้แล้ว ยังเป็นอนุสสติ คือการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นการตัดกรรมที่เราเคยสร้าง
ถือว่าปีใหม่นี้ เราได้สร้างบุญเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ ขึ้นชื่อว่าบุญก็คือความดี ความงาม ความสุข ความฉลาด ที่จะส่งผลดลให้สิ่งต่างๆเป็นไปในอนาคตข้างหน้าของเรา สมเด็จพระสังฆราชญาโณทัยมหาเถระ วัดสระเกศ ท่านได้ตรัสเอาไว้ว่า "ตราบใดเรายังเวียนตายเวียนเกิดอยู่ ตราบนั้นบุญยังเป็นความสำคัญ เพราะบุญย่อมส่งวิบาก คือผลที่จะได้รับแต่ในด้านดีอย่างเดียวเท่านั้น"
จะเห็นว่านักปราชญ์ที่สรรเสริญในเรื่องของบุญเรื่องของความดี แม้ว่าในส่วนบุญของเราทำมันเป็นสามิสสุข ก็คือ ความสุขที่ต้องประกอบด้วยอามิส อย่างเช่น เครื่องบูชา ทรัพย์สิน สิ่งของ เป็นต้น แต่ว่าถ้าเราจะไปกล่าวถึง นิรามิสสุข ก็คือ ความสุขที่ปราศจากการอิงอามิส ได้แก่ ความสุขใจที่เกิดจากการประพฤติ การปฏิบัติ อันนั้นก็เป็นคุณที่สูงเกินไป นิรามิสสุข คือความสุขที่ปราศจากอามิส ต้องประกอบไปด้วยพื้นฐานจากสามิสสุข พูดง่ายๆก็คือว่า ถ้าไม่มีฐานก็ไม่มียอด
ปัจจุบันนี้มีผู้รู้จำนวนมาก เขากล่าวว่า ครูบาอาจารย์แต่ละท่านสอนให้ยึดติด เช่น ยึดติดในตัวบุคคล ยึดติดในวัตถุมงคล เป็นต้น อาตมาก็อยากทราบเหมือนกันว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น รู้หรือเปล่า ว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อน หรือว่าครูบาอาจารย์ที่อาศัยคำสอนที่เขาว่ายึดติดนั้น มีกุศโลบายอย่างไร ท่านบอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าสอนเพื่อความหลุดพ้น อาตมาก็อยากรู้ว่าถ้าเด็กมันยังไม่เรียนป.๑ แล้วก็มีผู้รู้มาบอกว่า เรียนปริญญาเอกไปเลย สูงสุดในพระพุทธศาสนา สูงสุดในประเทศของเรา ไม่มีอันไหนดีกว่านี้อีกแล้ว เด็กกะโปโลที่ ก.ไก่ ยังเขียนไม่ได้ มันจะเรียนได้ไหม?
หรือไม่ก็ชี้ไปบนยอดเจดีย์นู่น ทองคำประดับเพชรด้วย ดีที่สุด แพงที่สุด เด่นที่สุด สร้างด้วยฉัตรยอดทอง ฐานเจดีย์ไม่ต้องหรอก ฉัตรคงจะลอยอยู่ได้...
ถึงได้กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเนื่องถึงกัน ท่านที่รู้จริงจะไม่ปฏิเสธสมมติ แล้วขณะเดียวกันก็ไม่ได้สรรเสริญวิมุตติโดยจุดเดียว อย่าลืมว่าแม้จะเป็นสิ่งสมมติ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสัจจะ คือ ความเป็นจริง ท่านใช้คำว่า สมมติสัจจะ ขณะเดียวกัน บางสิ่งจริงแท้ที่เป็นสภาวะธรรม ท่านก็เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ในเมื่อมีทั้งส่วนของสมมติและส่วนของปรมัตถ์ คนที่ก้าวล่วงสมมติอย่างแท้จริงจะเห็นคุณค่า จะไม่เหยียบย่ำทำลายสิ่งสมมตินั้น
ตามประวัติหลวงปู่มั่น ที่หลวงตามหาบัวท่านเขียนเอาไว้ ท่านบอกว่าวันที่หลวงปู่มั่นบรรลุธรรม ท่านนั่งกราบกระท่อมที่ท่านทำสมาธิอยู่ กราบแล้วกราบอีก น้ำตาไหลน้ำตาร่วงด้วยความปิติ
เพราะเห็นจริงๆว่าทุกอย่างเป็นธรรมะหมด กระท่อมหลังนั้น เกิดขึ้น เปลี่ยนไป และกำลังสลายตัวไปเรื่อยๆ จะพังอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ต้นไม้สัตว์ป่า ก้อนหินทุกก้อนก็เหมือนกัน ตัวของท่านเองกระทั่งจีวร อัฐบริขารต่างๆก็สภาพเดียวกัน เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนในท่ามกลาง และท้ายสุดก็สลายไป กลายเป็นว่าสมมติทั้งหมดกลายเป็นวิมุติ สิ่งสมมติกลายเป็นปรมัตถ์ มันขึ้นอยู่กับสภาวะจิตของเราว่าเข้าถึงระดับไหน
เราจึงต้องอาศัยสมมติเหมือนกับเป็นน้ำที่รองรับเรือ เพื่อที่จะก้าวข้ามวัฏฏสงสารอันกว้างใหญ่ โดยการละชั่ว ทำดี เว้นบาป สร้างบุญไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าบุญมันเต็มจริงๆ มันจะปล่อยวางของมันเอง ถึงเวลานั้นรู้ว่าอันไหนดีก็ทำ รู้ว่าอันไหนชั่วก็ละ ไม่ติดแล้วทั้งดีทั้งชั่ว ก็แปลว่าเราสามารถที่จะก้าวพ้นไปได้ เพราะไม่มีอะไรยึดเกาะ แต่ถ้าหากว่าเราเองยังมีการแบ่งว่าอันนี้เป็นสมมติ อันนี้เป็นวิมุตติ อันนี้เป็นสมมติสัจจะ อันนี้เป็นปรมัตถสัจจะ แสดงว่าสภาพจิตของเรามันยังก้าวไม่ถึง ความเป็นจริงแท้ ยังมีการแบ่งแยกว่ายังมีเรา ยังมีเขา ก็แปลว่ายังมีตัวตนที่เป็นอัตตาอยู่ เข้าไม่ถึงความเป็นอนัตตาอย่างแท้จริง
ดังนั้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราสามารถใช้ในการทบทวนตัวเองของเราได้ ดูย้อนหลังการปฏิบัติของเราได้ ว่าที่เราทำมาตั้งแต่จนบัดนี้ จริงๆแล้วตอนนี้เราได้อะไรบ้าง อย่าลืมว่า อิทธิบาท ๔ ตัวสุดท้ายสำคัญที่สุด เรามีฉันทะพอใจที่จะทำ ต้องมีแน่นอนไม่งั้นเราไม่หันมาสนใจปฏิบัติหรอก วิริยะเราพากเพียรทำไปแล้ว ท้อถอยบ้างแต่ก็ยังไม่ทิ้ง จิตตะเป้าหมายของเราแน่นอน แต่คลอนแคลนไปตามกระแสของรักโลภโกรธ หลง แต่ยังไงๆเข็มทิดศมันเล็งเป้า มันก็เหลือแต่วิมังสา คือตัวไตร่ตรองทบทวน ปัจจุบันนี้แม้แต่บริษัทห้างร้านของเอกชนก็ใช้หลักธรรมข้อนี้อยู่เสมอ ก็คือการสรุปและประเมินผล คือตัววิมังสานี่เอง
เราต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร สิ่งที่เราทำนั้นตอนนี้เราทำได้เท่าไหร่แล้ว ปัจจุบันนี้ยืนอยู่ตรงจุดไหน ทิศทางที่มุ่งไปยังตรงกับเป้าหมายเดิมหรือไม่ ถ้าเราสามารถทบทวนตรงนี้ไว้เสมอ เราก็แก้ไขจุดบกพร่องที่จะมีจะเกิดขึ้นกับตัวเราเองได้ แต่ถ้าหากว่าเราขาดตัวทบทวนตัวนี้
ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะมีน้อยเกินไป
ที่มา http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=106