คบคนเช่นใด ก็จะกลายเป็นคนเช่นนั้น
คบคนเช่นใด ก็จะกลายเป็นคนเช่นนั้น
นักจิตวิทยาการศึกษาของญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "เราทุกคน คือบุตรธิดาของสิ่งแวดล้อม"
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "คบคนเช่นใด ก็จะกลายเป็นคนเช่นนั้น"
ด้วยเหตุที่สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อคนเรามาก เวลาที่ทรงสอนเรื่อง "สูตรสำเร็จแห่งชีวิต" ซึ่งมีมรรควิธีอยู่ถึง 38 ประการ พระองค์จึงทรงเริ่มต้นด้วยการสอนให้เรารู้จักการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก่อน เป็นอันดับแรก
สิ่งแวดล้อมที่ว่านี้หมายถึง "คน" ที่แวดล้อมเราอยู่ เพราะเราอยู่ท่ามกลางคนประเภทไหน เราก็มักมีแนวโน้มที่จะได้รับอิทธิพลจากคนประเภทนั้น คนที่ทรงแนะนำให้เราเลือกสนิทเสวนา จึงเป็นบุคคลประเภท "บัณฑิต" มากกว่า "คนพาล"
บัณฑิตและพาลมีอะไรเป็นที่สังเกต ทรงแนะนำว่าบัณฑิตและพาลมีลักษณะ 3 ประการ บอกให้รู้ถึงคุณภาพและบุคลิกภาพ นั่นคือบัณฑิตมีลักษณะ
(1) คิดดี(2) พูดดี(3) ทำดี
คนพาลมีลักษณะตรงกันข้าม คือ
(1) คิดชั่ว(2) พูดชั่ว(3) ทำชั่ว
เพื่อยืนยันพุทธวัจนะที่ว่า "คบคนเช่นใด ก็จะกลายเป็นคนเช่นนั้น" นักปราชญ์ท่านจึงเล่านิทานพุทธปรัชญาเรื่อง "มะม่วงหวานกับสะเดาขม" ประกอบ
ที่พระราชอุทยานของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง มีต้นมะม่วงที่มีผลหอมหวาน กรอบ อร่อยมากอยู่ต้นหนึ่ง ทุกปี พอถึงฤดูที่มะม่วงสุก พระราชาจะโปรดมาปลิดมะม่วงไปเสวยด้วยพระองค์เอง ทรงมีความสุขมากกับโอชารสจากผลมะม่วง ทรงรักมะม่วงต้นนี้เป็นนักหนา
อยู่ต่อมา คนเฝ้าอุทยานไปได้ต้นสะเดามาต้นหนึ่ง ซึ่งใบของมันมีรสขมมาก เขานำต้นสะเดามาปลูกลงไปใกล้ๆ ต้นมะม่วงหวานต้นนั้น เพียงปีเดียวเท่านั้น ต้นสะเดาก็โตพรวดพราดขึ้นมาทันตาเห็น เพราะดินตรงนั้นเป็นผืนดินอันอุดมด้วยปุ๋ยและน้ำ แต่พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของต้นสะเดา มันก็นำเอาความผิดปกติมาด้วย กล่าวคือ พอถึงฤดูกาลที่มะม่วงสุก พระราชาเสด็จมาทรงปลิดมะม่วงสุกเสวย พระองค์ต้องทรงคายทิ้งทันที เพราะมะม่วงทุกผลที่ทรงปลิดมานั้น กลายเป็นมะม่วงขมปี๋ไปอย่างไม่น่าเชื่อ พระองค์ทรงกริ้วมาก รับสั่งให้ค้นหาสาเหตุทันทีว่า มะม่วงหวานมาพานขมไปได้อย่างไร
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังร่วมกันค้นหาสาเหตุอย่างไร ก็ค้นไม่พบ เมื่อจนด้วยเกล้า จึงไปเชิญราชบัณฑิตคนหนึ่งมาพิจารณา ราชบัณฑิตใช้ปัญญาพิจารณาดูสภาพภายนอกของต้นมะม่วง ก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อถอยออกมาพิจารณาดูสภาพแวดล้อมของต้นมะม่วง ก็เกิดเอะใจกับต้นสะเดาที่ขึ้นอยู่ใกล้ต้นมะม่วง ราชบัณฑิตจึงตั้งสมมติฐานว่า อาจจะเป็นไปได้ที่ต้นมะม่วงได้รับอิทธิพลความขมมาจากต้นสะเดา เพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้ ท่านจึงให้คนสวนขุดพิสูจน์
คนสวนลงมือขุดลงไปตามรากของต้นมะม่วงลึกประมาณวาหนึ่ง ก็ได้ค้นพบความจริงเหมือนกับที่ราชบัณฑิตตั้งข้อสังเกตไว้ทุกประการ เพราะภาพที่ปรากฏแก่ตาของทุกคนรวมทั้งพระราชาก็คือรากของต้นสะเดาจำนวนหนึ่ง ได้เลื้อยมากระหวัดพันเกี่ยวในลักษณะ "กิ๊ก" กับรากมะม่วงจนอีนุงตุงนังกันไปหมด แทบจะแยกไม่ออกว่ารากไหนเป็นรากสะเดาหรือรากมะม่วง พระราชาทรงเห็นปรากฏการณ์นี้แล้วถึงกับทรงรำพึงว่า
"นี่ขนาดรากไม้มาเกี่ยวพันกัน ยังมีผลทำให้มะม่วงหวานพานเป็นมะม่วงขมไปได้ ป่วยกล่าวไปไยกับการที่คนดีมาสังสรรค์กับคนเลวจะมิพลอยเลวตามไปด้วย"
เราเคยถามตัวเองกันบ้างหรือเปล่าว่า ในชีวิตของเราเอง เราถูกแวดล้อมด้วยคนประเภทไหน เราได้รับอิทธิพลของใคร และเหตุปัจจัยอะไรทำให้เรา "เป็น" อย่างที่ "เป็น" อยู่ทุกวันนี้ หากค้นพบว่ามีสิ่งดีๆ อยู่ในตัวเรามากมาย แสดงว่าเราเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี (นี่นับเป็นมงคลแห่งชีวิต) แต่หากค้นพบว่าในตัวเรามีแต่สิ่งเลวร้าย มีนิสัยแย่ๆ แสดงว่าเราเติบโตขึ้นมาท่ามกลางวิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ถ้าทิ้งไว้ ก็จะกลายเป็นอัปมงคลแก่ชีวิต
แต่ถ้าเรารู้เท่าทันว่า สภาพแวดล้อมของเราไม่ดี ก็ควรแยกตัวออกมาเสียให้ห่างไกล เพราะหากยังขืนใช้ชีวิตอยู่ในสภาพเดิมๆ ต่อไป เราก็จะกลายเป็น "มะม่วงหวานที่มาพานขมเพราะคบกับสะเดา" อย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง
ว.วชิรเมธี จากเรื่อง เมื่อมะม่วงหวาน "กิ๊ก" กับสะเดา